โต้วาที หมายถึง การแสดงความคิดเห็นเพื่อเอาชนะความคิดเห็นของอีกฝ่าย การโต้วาทีจึงเป็นการเอาชนะกันด้วย "เหตุผลของวาที"
ลักษณะสำคัญของการโต้วาที
-เป็นการเสนอเหตุผลหรือแนวความคิดของตนเอง
-เป็นการหักล้างเหตุผลหรือแนวความคิดของฝ่ายตรงข้าม
-เป็นการพูดที่ต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบอย่างมาก
-เป็นการพูดที่ออกท่าออกทางประกอบมากเป็นพิเศษ
-เป็นการพูดที่ต้องมีความพร้อมอย่างมาก เพราะต้องเตรียมคำพูดให้ขบขัน สุภาพ แหลมคมและกระชับ
ประโยชน์ของการโต้วาที
การโต้วาทีมีประโยชน์ทั้งต่อผู้ฟังและผู้โต้ดังนี้
-ประโยชน์ต่อผู้ฟัง
1.1 เกิดความเข้าใจในหลักการ เหตุผล หรือแนวคิด
1.2 ได้เรียนรู้วิธีแสดงเหตุผลแบบต่าง ๆ จากผู้โต้วาที
1.3 เกิดประสบการณ์ที่แปลกใหม่
1.4 มีโอกาสเรียนรู้การใช้ถ้อยคำสำนวนมากขึ้น
1.5 รู้จักพิจารณาเหตุผล
1.6 เสริมสร้างระบอบประชาธิปไตย
-ประโยชน์ต่อผู้โต้วาที
2.1 เกิดการปรับปรุงแนวความคิดให้ลึกซึ้งมากขึ้น
2.2 เกิดความชำนาญในการพูด
2.3 รอบรู้ในหลักวิชา
2.4 ได้ฝึกใช้ปฏิภาณไหวพริบในการแก้ปัญหา
2.5 กล้าแสดงออกอย่างถูกทาง
2.6 ได้ฝึกมารยาทการเป็นผู้พูด และผู้ฟังที่ดี
2.7 รู้วิธีการเสนอแนวคิดของตนไปยังบุคคลอื่น
จุดมุ่งหมายของการโต้วาทีแบ่งออกได้เป็น 4 ประการคือ
-การโต้วาทีเพื่อหาข้อเท็จจริง เป็นการโต้แย้งด้วยหลักวิชาการ เพื่อค้นหาความจริงและความถูกต้องของสิ่งที่โต้วาที -การโต้วาทีเพื่อลัทธิ ไม่มุ่งข้อเท็จจริง มักเป็นไปอย่างรุนแรงและจริงจัง
-การโต้วาทีเพื่อเอาชนะฝ่ายศัตรู เช่น การโต้วาทีระหว่างฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยในศาล เป็นต้น
-การโต้วาทีเพื่อแสดงความคิดเห็นอย่างมีแบบแผน เป็นการโต้วาทีที่ต้องดำเนินตามระเบียบการโต้วาทีอย่างเคร่งครัด
องค์ประกอบของการโต้วาที
1. ญัตติ
ญัตติ คือ หัวเรื่องที่ใช้ในการโต้วาที ลักษณะของญัตติที่ดี
1.1 เป็นญัตติที่มีข้อความไม่ตายตัว สามารถคัดค้านได้ หรือไม่ใช่ข้อความที่เป็นจริง เช่นโรคเอดส์รักษาไม่หาย
1.2 เป็นญัตติที่ก่อให้เกิดความคิดได้หลายทางที่ก่อให้เกิดความคิดเห็นได้หลายทาง ทั้งในแง่ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เช่น "ผู้หญิงไม่ควรเป็นนักปกครอง" "ข้าวขึ้นราคาชาวนามั่งมี" "ควรสอนเพศศึกษาในโรงเรียนมัธยม" เป็นต้น
1.3 เป็นญัตติที่คนส่วนใหญ่สนใจ
1.4 เป็นญัตติที่ช่วยให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์ มีสาระและช่วยผู้ฟังเกิดความคิดที่กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม
1.5 เป็นญัตติที่ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยก หรือลบหลู่สถาบันใด ๆ เช่น รักกันหนาต้องพากันหนี 2. ประธาน (หรือผู้ดำเนินการโต้วาที)
ประธานควรระวังในเรื่องต่อไปนี้
2.1 ต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่เผลอกล่าวสนับสนุนผู้โต้วาทีคนใดคนหนึ่งเป็นอันขาด
2.2 ต้องพูดให้น้อยที่สุด เพราะผู้ฟังเน้นมาฟังผู้โต้วาทีมากกว่า
2.3 ต้องเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องกำหนดการ ข้อมูลเกี่ยวกับญัตติ กรรมการ และผู้โต้วาที
3. กรรมการ
โดยปรกติมักกำหนดให้มีจำนวนคี่เพื่อความสะดวกในการตัดสิน
3.1 ประเด็นในการโต้
3.2 เหตุผล
3.3 การหักล้าง
3.4 วาทศิลป์
3.5 มารยาท คือท่าทาง เนื้อหาที่พูด การใช้ถ้อยคำ และการตรงต่อเวลา
3.6 ส่วนประกอบอื่น ๆ เช่นน้ำเสียง วิธีพูด และท่าทาง
4.ผู้โต้วาที
ในการโต้วาทีจะแบ่งผู้โต้วาทีเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายเสนอและฝ่ายค้าน ไม่จำกัดจำนวนว่าผู้โต้วาทีจะมีกี่คน แต่ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีจำนวนเท่ากันและมีหัวหน้าฝ่ายฝ่ายละ 1 คน
5. ผู้ฟัง
ผู้ฟังควรรู้จักพิจารณาถ้อยคำที่โต้ ตอนใดผู้โต้วาทีพูดดีเป็นที่ประทับใจควรปรบมือให้
การจัดการโต้วาที
ฝ่ายเสนอจะนั่งทางขวามือของผู้ดำเนินการโต้วาที ฝ่ายค้านจะนั่งทางซ้าย โดยหัวหน้าฝ่ายทั้งสองฝ่ายจะนั่งที่นั่งแรก เวลาที่ใช้ในการโต้วาที มี 4 แบบ
-533
-644
-755
-866
ตัวเลขตัวแรก คือ เวลาที่คิดเป็นนาทีที่หัวหน้าฝ่ายแต่ละฝ่ายใช้พูดในตอนต้น
ตัวเลขตัวกลาง คือ เวลาที่คิดเป็นนาทีที่ผู้สนับสนุนแต่ละคนใช้พูด
ตัวเลขตัวท้าย คือ เวลาที่คิดเป็นนาทีที่หัวหน้าฝ่ายแต่ละฝ่ายใช้สรุป วิธีการโต้วาที
ประธานหรือผู้ดำเนินการโต้วาที
จะกล่าวเปิดการโต้วาที ต่อมาเป็นหัวหน้าฝ่ายเสนอ แล้วจึงสลับไปเป็นหัวหน้าฝ่ายค้าน สลับไปมาเช่นนี้ เมื่อหมดเวลาการโต้วาที ผู้ดำเนินการโต้วาทีจะให้หัวหน้าฝ่ายค้านเป็นผู้สรุปก่อน จากนั้นหัวหน้าฝ่ายเสนอจะเป็นผู้สรุปสุดท้าย เพื่อจะได้มีโอกาสที่จะพูดแก้เหตุผลของฝ่ายค้านได้อย่างเต็มที่
เทคนิคในการโต้วาที
เทคนิคการโต้มี 4 ประการ คือ
-การป้องกัน หมายถึง การป้องกันญัตติด้วยการหาเหตุผลมาล้อมรั้วสาระของญัตติ
-การโจมตี หมายถึง การกล่าวซ้ำเติม หรือกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าไร้เหตุผล
-การต่อต้าน หมายถึง การหักล้างเหตุผลการโจมตีของฝ่ายตรงข้ามที่กล่าวโจมตีฝ่ายตน
-การค้านอย่างมีศิลปะ การค้านจะทำได้ 3 วิธี คือ
4.1 ค้านญัตติ เป็นการค้านตัวญัตติหรือสาระของญัตติว่าไม่ถูกต้อง
4.2 ค้านเหตุผล เป็นการค้านเหตุผลที่อีกฝ่ายเสนอมา
4.3 ค้านข้ออ้างอิง เป็นการค้านข้ออ้างอิงที่อีกฝ่ายเสนอมา ข้อแนะนำสำหรับผู้โต้วาที
ผู้โต้วาทีควรเป็นผู้รอบรู้ในด้านต่าง ๆ
ผู้โต้วาทีควรมีเวลาเตรียมตัวมากพอสมควร
ผู้โต้วาทีควรพูดอยู่ในประเด็น
ผู้โต้ต้องมีสติ ไม่เผลอพูดสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม
ผู้โต้วาทีต้องมีวาทศิลป์
ผู้โต้วาทีต้องมีอารมณ์ขัน
ผู้โต้วาทีควรคำนึงถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อส่วนรวม
ผู้โต้วาทีจะต้องระมัดระวังเรื่องมารยาทให้มาก
ผู้โต้วาทีต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม